Smart Control and Living with COVID-19

การควบคุมโรคแนวใหม่ที่สมดุลกับการดำเนินชีวิตที่ปลอดภัยจากโควิด-19 โดยมีมาตรการ 10 ข้อควบคุมโควิดใหม่ ดังนี้

1. การยกระดับมาตรการ DMHT (อยู่ห่าง-ใส่แมสก์-ล้างมือ-วัดอุณหภูมิ) เป็นมาตรการ Universal Prevention (การป้องกันแบบครอบจักรวาล) นั่นคือการระมัดระวังตัวเองอย่างสูงสุด คิดเสมือนว่าทุกคนที่พบปะนั้นมีโอกาสเป็นผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น

2. การจัดหาวัคซีนและฉีดให้ได้มากและเร็วที่สุด โดยเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยง โดยวันนี้เราสามารถมั่นใจได้แล้วว่า รัฐบาลจะทำทุกวิถีทางเพื่อจะจัดหาวัคซีนให้ประชาชนได้อย่างน้อย 120 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ และเมื่อรวมกับวัคซีนทางเลือกของเอกชน  จะมีวัคซีนรวมอย่างน้อย 130 ล้านโดส = ฉีดให้ประชาชนไทยได้กว่า  65 ล้านคน

3.การจัดหาชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง (ATK – Antigen Test Kit) ที่เข้าถึงง่าย ราคาถูก โดย สปสช. ได้สั่งซื้อหาและจะแจกจ่ายให้ประชาชนจำนวน 8.5 ล้านโดส โดยเร็วที่สุด และจะจัดหามาเพิ่มอีกในอนาคต

4. การจัดทำมาตรการ Bubble & Seal กับโรงงาน สถานประกอบการ และแคมป์ก่อสร้าง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นให้อยู่ในวงจำกัดที่สุด และดูแลจัดการอย่างครบวงจร ตั้งแต่การตรวจคัดกรอง การแยกกัก และการรักษาผู้ป่วย ที่จะทำให้เราไม่ต้องปิดทั้งโรงงาน

5. การจัดการสภาพแวดล้อมและการคัดกรองการตรวจอย่างเข้มงวดด้วยชุดตรวจ ATK ในสถานที่เสี่ยง คือตลาด และชุมชนแออัด ที่เป็นแหล่งแพร่ระบาดและเกิดคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ต้องเข้มงวดและตรวจเป็นประจำ

6. การจัดสภาพแวดล้อมของกิจการที่มีความเสี่ยงเป็นแบบปราศจากโควิด (COVID-Free Setting) เพื่อเปิดดำเนินกิจการได้ มี 3 องค์ประกอบสำคัญคือ 1.COVID-Free Environment (สภาพแวดล้อมปราศจากโควิด) เช่นระบบระบายอากาศ การจัดสถานที่ให้ไม่แออัด 2.COVID-Free Personnel (พนักงานปราศจากโควิด) เช่นการฉีดวัคซีนและตรวจ ATK 3.COVID-Free Customer (ลูกค้าปราศจากโควิด) เช่นการแสดงผลฉีดวัคซีนหรือการตรวจ ATK
7.การจัดสภาพการทำงานและการเดินทางที่ปลอดภัย ไม่แออัด รวมถึงการคัดกรองโรคด้วยชุดตรวจ ATK สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานจำนวนมาก ไม่ระบาดในที่ทำงาน และไม่นำเชื้อกลับมาส่งต่อที่บ้าน

8. การจัดกิจกรรม สถานที่ และบริการสาธารณะต่างๆ ภายใต้มาตรการ 3C คือ การไม่จัดให้เกิดพื้นที่เสี่ยง 3 ประการ คือ “แออัด-ใกล้ชิด-ปิดอับ” (Crowded Places Close-Contact Setting, Confined & Enclosed Spaces)

9. การจัดการบริการควบคุมโรคเชิงรุก เข้าถึงกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบางในพื้นที่และชุมชนระบาด ด้วยหน่วยเคลื่อนที่ CCRT (Comprehensive COVID-19 Response Team) ทั้งการตรวจคัดกรอง การนำผู้ป่วยออกมารักษา การฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกับผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ที่ไม่สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ด้วยตนเอง

10. ตรวจคัดกรองเชิงรุกให้รวดเร็ว รู้ผลให้เร็ว แยกกักผู้ป่วยและผู้มีความเสี่ยงเร็ว และรักษาผู้ป่วยได้เร็ว ด้วยชุดตรวจ ATK และระบบแยกกักที่บ้านและที่ชุมชน Home Isolation & Community Isolation สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง ที่ช่วยบรรเทาภาระของการครองเตียง และการต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้มีอาการหนักหรือปานกลาง สามารถเข้ารับการรักษาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และมีโอกาสรักษาหายดีมากยิ่งขึ้น